ตอนเด็ก ๆ ผู้ใหญ่สั่งสอน ให้ขยันเรียน จะได้มีอนาคตที่สดใส หลายคนขยันทำงานมาก แต่ทำไมเงินเดือนไม่ขึ้น
หลายคนทุ่มเททำงาน ทำไมเจ้านายยังไม่รัก หลายคนขยันทำงานหนัก แต่ทำไมยังไม่รวย ทำไมสุภาษิตจีนบอกว่า
“ให้กำจัดคนขยันแต่โง่ก่อน ?” ขยันแล้วไม่ดีตรงไหน ประโยคที่บอกว่า “อย่าขยันทำงานหนักอย่างเดียว ต้องทำงานให้ฉลาดด้วย”
มันเพียงพอจริงหรือไม่ ?แล้วแบบไหนบ้างที่เป็น “กับดักความขยัน”
1 : ขยันเพื่อขายเวลาแลกเงิน
เวลาเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัด ถ้าขยันทำงานเพื่อขายเวลาแลกเงิน คุณจะไม่มีวันรวย ถ้าเลือกขยันเพื่อขายเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน
ให้กับนายจ้างรายได้จึงจำกัด ถ้าคุณเลือกขายเวลาเพื่อเงิน คุณจะไม่มีทางได้พบกับ อิสรภาพทางการเงินและอิสรภาพทางเวลา
คนรวยต้องการความมั่งคั่ง พวกเขาคิดว่าเวลาเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด เวลาไม่สามารถเก็บเอาไว้ใช้ได้ และไม่ไหลย้อนกลับ
ดังนั้น พวกเขาเลือกขยันที่จะรับเงินตามผลของงาน โลกระบบทุนนิยม จ่ายเงินตามอัตราความสามารถของคุณในการตอบโจทย์ชีวิต
ของผู้อื่นต่างหาก นี่คือกฎเหล็กที่สำคัญที่สุด ในโลกของทุนนิยม ที่คุณควรจำไว้ให้ได้ตลอดกาล ยิ่งคุณตอบโจทย์ชีวิตของผู้อื่น
ได้ตรงใจเขามากเขาก็ยิ่งพร้อมจะจ่ายเงินให้คุณมาก และยิ่งมีคนที่คุณตอบโจทย์ได้จำนวนมาก คุณก็ยิ่งมีช่องทางการรับเงินมากขึ้น
2 : ขยันให้กับความฝันของคนอื่น
คนที่ประสบความสำเร็จทุกคนจะมีความฝัน มีเป้าหมายของตัวเอง ความขยันเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม มีความขยันอีกแบบ
ที่เหมือนจะดี แต่กลับเป็นสิ่งที่คอยขวางไม่ให้รวย ก็คือ ‘ความขยันในการสร้างฝันให้คนอื่น’ คนที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
คือคนที่ต้องทำงานให้กับคนที่มีเป้าหมาย ถ้าคุณยังหาฝันของตัวเองไม่เจอ จะมีคนจ้างคุณไปทำให้ฝันของเขาเป็นจริง
จงถามใจตัวเองว่า ตอนนี้คุณขยันเพื่อฝันของตัวเอง หรือตอนนี้คุณขยันเพื่อฝันของคนอื่น
3 : ขยันแบบเอาหัวพุ่งชน
แม้ว่าคุณจะมีความขยันที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความฝัน และประสิทธิภาพ ก็ยังยากจะเป็นเศรษฐีได้ หากคุณยังขยัน
อย่างผิดพลาดอยู่ นั่นคือ ‘การขยันอย่างตะบี้ตะบัน ไม่สร้างสรรค์ และปรับปรุง’ การทบทวนตัวเอง ทบทวนในสิ่งที่ได้คิด สิ่งที่ได้ทำผ่านมา
ว่าเกิดผลดีผลเสียอย่างไร ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเราเอง และเป็นเรื่องที่ร่วมคิดร่วมทำกับคนอื่น เพื่อปรับปรุงปรับแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น
4 : ขยันทำในสิ่งที่ไม่ได้รัก
‘การทำงานที่ไม่ได้รัก จะทำให้เราได้โบนัสเป็นความทุกข์’ หลายคนก้มหน้าก้มตาทำงานหนักอย่างขยัน ในงานที่พวกเขาไม่ได้รัก
คุณคิดว่าทำในสิ่งที่รัก กับทำในสิ่งที่ไม่ได้รัก ทำแบบไหนผลงานจะออกมามีคุณภาพมากกว่ากัน ?
จงมีฉันทะ จงทำในสิ่งที่ใจรัก ใจที่รักอันเกิดจากความศรัทธา และเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ทำ ขอเพียงขยันในสิ่งที่รัก
สิ่งที่เชื่อ นั่นละเป็นจุดเริ่มต้นของความร่ำรวย
5 : ขยันเน้นเชิงปริมาณ
การเน้นเชิงปริมาณ หมายถึงขยันทำให้ได้มากที่สุด ขยันโดยไม่สนใจว่างานที่ออกมามีคุณภาพดีหรือไม่ ยาจกจะใช้เวลาทำงานมาก
‘เท่าที่คุ้น’ ซึ่งหมายความว่า ยาจกเคย ‘คุ้น’ กับการทำงานด้วยเวลามากแค่ไหนเขาก็จะใช้เวลามากเท่านั้นกับทุกๆ งาน ไม่ว่างานนั้น
จะเล็กหรือใหญ่ สำคัญหรือไม่สำคัญก็ตาม ในขณะที่เศรษฐีจะใช้เวลาทำงานมากเท่าที่ ‘ควร’ นั่นคืองานไหนสำคัญและใหญ่
เขาจะใช้เวลาอย่างเต็มที่ยิ่งกว่างานอื่น และเน้นการสร้างผลลัพธ์ที่ดี มากกว่าเน้นการใช้เวลาให้มากเข้าไว้นั่นเอง
จงอย่าขยันเน้นจำนวน จงเน้นขยันเชิงคุณภาพ